100นักเที่ยวไทยติดในพม่า | ไทยโพสต์

100นักเที่ยวไทยติดในพม่า | ไทยโพสต์

นักท่องเที่ยวไทยติดในพม่ากว่า 100 ชีวิต เหตุถนนหลักพัง คาดอย่างต่ำ 7 วันช่วยได้ "มาร์ค" ประชุมผู้ว่าฯ เมืองเหนือชี้ชาวบ้านเดือดร้อนใกล้แสน เพราะที่เชียงรายก็เหยียบ 9 หมื่น กฟผ.ร้อนก้น แจงเขื่อนในไทยมั่นคง 100%
เหตุการณ์ แผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ที่ประเทศพม่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด สำนักข่าวอิรวดีคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตขั้นต่ำกว่า 150 คน และมีผลกระทบนับหมื่นราย แต่ดูเหมือนความช่วยเหลือกลับยังล่าช้าและไม่ทันการณ์ โดยมีเสียงของชนกลุ่มน้อยหลายส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเปิดกว้างในการ ช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอยกรณีพายุนาร์กีสที่ปัจจุบันยังแก้ไขปัญหาไม่ได้
“พม่าต้องเปิดกว้างนานาประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ เพราะรัฐบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัย”
ขณะ เดียวกัน ทีวีพม่าในส่วนกลางและท้องถิ่น ได้เผยแพร่ภาพข่าวนายหม่องหม่อง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการตั้งถิ่นฐาน พร้อมคณะนายทหารเดินทางโดยเครื่องบินไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก และเมืองเจียงตุงเพื่อเยี่ยมราษฎรพม่าที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และระบุว่า ภาครัฐได้ระดมเจ้าหน้าที่ทหารช่วยเก็บซากปรักหักพังของบ้านเรือน อาคาร วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งการตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ ซึ่งการเดินทางของคณะได้นำข้าวสาร อาหารแห้ง ภาชนะ เครื่องครัวต่างๆ ยา เวชภัณฑ์ รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม ไปมอบให้ประชาชนด้วย
มูลนิธิเวิลด์วิชั่นเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้กระทบต่อประชาชน 15,000 คนในพื้นที่ และเตรียมส่งอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ครอบครัว 2,500 ครัวเรือน
ส่วนผลกระทบต่อคนไทยนั้น ล่าสุด จังหวัดเชียงรายได้รับการประสานว่า มีกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวชาวไทยตกค้างอยู่ในพม่ากว่า 100 ชีวิต โดยนักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้าไปในพม่า โดยใช้เส้นทาง R-3B อ.แม่สาย จ.เชียงราย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ซึ่งได้ตกค้างอยู่ที่ จ.เชียงตุง ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าเดื่อ ซึ่งห่างจาก อ.แม่สาย ไปทางทิศเหนือของรัฐฉานราว 50 กิโลเมตร ที่เป็นสะพานสัญจรหลัก ได้ถูกแรงแผ่นดินไหวสั่นจนคอสะพานขาดจากกัน รถทุกชนิดข้ามไป-มาไม่ได้ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่ง จ.เชียงราย ได้ประสานไปยังฝั่งพม่าเพื่อหาช่องทางช่วยเหลือ คาดว่าอาจต้องใช้เส้นทางอื่นในการเดินทาง และต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 วันในการช่วยเหลือได้
นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ประธานหอการค้า อ.แม่สาย กล่าวว่า ถนนสายดังกล่าวเป็นถนนสายหลักที่ใช้เพื่อสัญจร รวมไปถึงการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค และพลังงานที่พม่าต้องนำเข้าจากไทย และเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวด้วย เมื่อเส้นทางเสียหายและถูกตัดขาด จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการบริโภคภายในพม่าอย่างมาก
ส่วนที่ศูนย์ เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เกี่ยวเนื่องกับแผ่นดินไหวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ครั้งที่ 113
โดยนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รายงานความเสียหายเบื้องต้นว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 2 แห่งที่หนัก คือ อ.แม่สาย บาดเจ็บ 13 ราย และ อ.เชียงแสน มีผู้บาดเจ็บ 8 ราย นอกนั้นเป็นสิ่งสาธารณูปโภค อาคารต่างๆ โดยบ้านเรือนประชาชนเสียหายบางส่วน 519 หลังคาเรือน อาคารตึกสูง 23 หลังคาเรือน สถานที่ทางศาสนา สถานประติมากรรมโบราณสถาน 39 แห่ง ส่วนราชการคืออาคาร เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน โรงพยาบาลแม่สาย และโรงพยาบาลเชียงแสน รวมทั้งหมด 15 อำเภอ 42 ตำบล 162 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 89,186 คน ทั้งหมด 34,650 ครัวเรือน
นาย สมชัยยังเล่าถึงมาตรการในการรับเหตุต่างๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือต่อราษฎร และการตั้งศูนย์ช่วยเหลือทั้งคนไทยและพม่า ในขณะที่พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระบุถึงยอดพระเจดีย์ที่มีอายุกว่า 680 ปีหักว่า เป็นห่วงถึงสภาพขององค์พระธาตุ ถ้าหากไม่ได้รับการบูรณะอย่างเร่งด่วน หากเกิดมีฝนตกและมีน้ำซึมเข้าไปในองค์พระธาตุ อาจทำให้องค์พระธาตุทั้งหมดทรุดและพังลง จึงขอเจริญพรไปยังนายกฯ ช่วยพิจารณาให้หน่วยงานที่ดูแลและเกี่ยวข้องช่วยดูแลเร่งด่วน
นายกฯ ตอบว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานว่ามีสถานที่สำคัญทางศาสนาและโบราณสถานที่เสียหาย หลายจุด 7 จุด ซึ่งกำลังเตรียมเสนอแนวทางในการบูรณะและให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีความเสีย หายต่างๆ เพิ่มเติม
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการ จ.น่าน รายงานว่า ตอนนี้ยังไม่ปรากฏความเสียหายที่เป็นถนน สะพานสิ่งสาธารณประโยชน์ แต่มีผลกระทบโบราณสถาน 2 แห่ง คือ วัดพระธาตุแช่แห้ง บริเวณวิหารพระนอน และวิหารหลวง ซึ่งกรมศิลปากรอยู่ระหว่างการสำรวจตรวจสอบ และวัดภูมินทร์ ที่วิหารจตุรมุข และพระพุทธรูปมีรอยร้าว
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ชาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ได้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ นำมาวิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบอะไรกับประชาชน และแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที โดยผ่านระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น SMS สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ระบบสื่อสารวิทยุ ฯลฯ รวมทั้งได้ฝึกซ้อมรับ ยืนยันว่าศูนย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยทั้งชีวิตและ ทรัพย์สิน
นายกฯ ย้ำว่า ระบบของเราขณะนี้ได้จัดพื้นที่ประเภทของภัยความรุนแรง และมีขั้นตอนมีแผนเรียบร้อยว่าความรุนแรงระดับไหน ใครต้องทำอะไร ก็ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร ซึ่งกรณีแผ่นดินไหวมีประชาชนจำนวนมากที่ยังห่วงเรื่องความปลอดภัยของอาคาร ต่างๆ ก็ได้ดำเนินการให้สำรวจ โดยเฉพาะอาคารเก่าซึ่งอาจยังไม่มีโครงสร้างรองรับ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้ก็จะมีการสำรวจและให้คำแนะนำเจ้าของอาคารจะต้องเสริมความเข้มแข็ง อย่างไร
“ขอย้ำในทุกจังหวัดว่า รัฐบาลจะเข้าไปดูแลในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน โบราณสถาน และสถานที่สำคัญอย่างเต็มที่ เรากำลังจะรวบรวมเรื่องทั้งหมด มีอะไรที่หน่วยงานส่วนกลาง รัฐบาลที่จะดำเนินการได้ ก็จะได้เร่งให้มีการดำเนินการต่อไป” นายกฯ กล่าว
นาย ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ว่าสามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาให้นักวิจัยไทยในการคิดค้นระบบและเทคโนโลยี เพื่อวางแผนรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับไทยในอนาคต
นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา ปภ.พยายามจัดทำแผนแม่บทแบบบูรณาการกับหน่วยงานเครือข่ายกว่า 50 หน่วยงาน เพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยงรองรับภัยพิบัติล่วงหน้า ซึ่งแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิผ่านมติคณะรัฐมนตรี และมีผลนำไปใช้งานในระดับภูมิภาคแล้ว และอยู่ระหว่างทำแผนแม่บทการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเสนอเข้า ครม.ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเป็นแผนปฏิบัติระดับชาติในด้านการวางแผนก่อสร้างและบำรุงอาคารที่พัก อาศัยที่ไม่แข็งแรงต่อไป
ผลพวงจากแผ่นดินไหวยังทำให้มีการพูดถึงความมั่น คงของเขื่อนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะการเสนอข่าวว่าเขื่อนในกำกับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1 แห่งเกิดรอยร้าว ทำให้นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา ต้องชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจผิดในงานสัมมนาเรื่อง “แผ่นดินไหวและสึนามิ 11 มีนาคม 2011 บทเรียนจากญี่ปุ่นสู่การเตรียมพร้อมของไทย” โดยได้พูดถึงเขื่อนฟูจินูมาของญี่ปุ่น ไม่ใช่เขื่อนของ กฟผ.
“ผมในฐานะ ดูแลเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนในประเทศ ขอยืนยันว่าเขื่อนทุกเขื่อนมีความแข็งแรง 100% ขอให้ประชาชนมั่นใจในการตรวจสอบดูแลรักษาของ กฟผ.ที่มาตรการเข้มงวดรัดกุม”
ใน ขณะที่ นายผสันต์ ธัมปราชญ์ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 9 (คพข.9) จ.กาญจนบุรี เผยเกี่ยวกับข่าวลือเขื่อนแตกว่า คพข.9 ได้ประชุมเรื่องนี้มานานแล้ว และได้ส่งเรื่องนี้ให้แก่เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อให้หาวิธีชี้แจงและให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ ประชาชนและชุมชนที่อยู่พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่มีโอกาสเสี่ยงได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุ ไม่คาดฝัน โดย คพข.9 จะทำโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร
ด้านนายสรวุฒิ จงสกุล ประธานชมรมผู้ใช้พลังงานเขต 9 กล่าวเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่ กฟผ.โดยเขื่อนศรีนครินทร์และวชิราลงกรณต้องเปิดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ บริหารจัดการความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยออกสู่สาธารณะให้ประชาชน
วัน เดียวกัน สวนดุสิตโพลยังได้สำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,629 คน ในเรื่องประเทศไทยและเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่า เหตุดังกล่าวทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 51.76% ติดตามข่าวสารมากขึ้น และ 38.94% ค่อนข้างสนใจ มีเพียง 7.53% ที่ไม่ค่อยสนใจ และ 1.77% ไม่สนใจเลย และเมื่อสอบถามถึงเหตุแผ่นดินไหวส่งผลต่อความเครียดหรือไม่ 42.86% ยอมรับไม่วิตกหรือเครียดมากนัก มีเพียง 31.75% ที่ค่อนข้างวิตกและเครียด 16.93% ไม่วิตกและไม่เครียด และ 8.46% วิตกและเครียดมาก
เมื่อสอบถามว่า หากเกิดแผ่นดินไหวในไทยควรป้องกันตัวอย่างไร 40.46% มองว่าต้องมีสติๆ ไม่ตื่นตระหนก 25.18% ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด, 20.33% ให้รีบออกจากอาคารและบ้านเรือน และ 14.03% ให้จดจำวิธีปฏิบัติ หรือแนวทางป้อนกันให้ขึ้นใจ ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากฝากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น 52.41% อยากให้รัฐบาลจริงจังและเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องประชุม, 24.50% ต้องเปิดเผยข้อมูลตามข้อเท็จจริง, 12.27% ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารและบ้านเรือน และ 10.82% อย่ามัวแต่ทะเลาะและสนใจเรื่องการเมืองมากไป.

No comments:

Photos

Hot Job !

ข่าวสาร เหตุการณ์